Thursday, October 11, 2012

รายการปั้นฝัน

วันนี้ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในบรรยากาศการอัดรายการ "ปั้นฝัน" ของ Eduzones ซึ่งจะเป็นรายการวิทยุที่แนะนำเกี่ยวกับการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และมีการอัดวีดีโอเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อด้วย คราวนี้เกือบจะได้เป็นตัวแทนของภาควิชาไปให้สัมภาษณ์แล้ว แต่ว่าพอคุยกันแล้วคิดว่าเป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งจะเหมาะสมกว่า เลยไปเป็นเพื่อนเพื่อนแทน ^ ^

เป็นครั้งแรกที่เคยเข้าห้องอัดเลยอยากจะมาแชร์สิ่งที่ต้องเตรียมตัวและบรรยากาศในการให้สัมภาษณ์ของนิสิตที่ต้องไปพูดถึงเรื่องการเรียน รวมไปถึงการเป็นนักเรียนที่จะเข้ามาฟังเสียหน่อย

บรรยากาศในการอัดรายการในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ประมาณ 9.30 น. ที่ RAC สาขา ม.เกษตร เป็นไปอย่างง่ายมากๆ ในห้องเล็กๆ มีกล้องโซนี 1 ตัว และไมค์ดีๆ 1 อันเท่านั้น และถึงแม้จะมีการอัดวิดีโอ แต่ก็ไม่ได้มีช่างแต่งหน้าแต่อย่างใด เอาเป็นว่าใครอยากสวยอยากหล่อก็ต้องโบ๊ะกันมาเองละจ้า สามารถรับชมวีดีโอรายการดีๆแบบนี้ได้จากหลายทางนะ ทางหนึ่งคือ YouTube ใน Channel ที่ชือว่า Eduzones Webmaster

พิธีกรผู้ดำเนินรายการมีสองท่าน เป็นพี่ผู้ชายและพี่ผู้หญิง การอัดรายการแบบนี้ก็ต้องพูดสียงดังฟังชัดกันหน่อย อัดรวดเดียวไม่มีคัทอะไร แต่สำคัญที่ว่าทักษะการพูดนั้นนอกจากว่าจะดีแล้ว ยังตัองรับส่งกันได้ดีอีกด้วย

สำหรับนิสิตที่จะต้องไปให้สัมภาษณ์นั้น สิ่งที่ต้องเตรียมก็คือ

  1. หน้า เตรียมหน้าให้พร้อมจ้า 55 ต่อมา 
  2. เตรียมข้อมูล ข้อมูลที่จะต้องพูด อันนี้น้องๆที่ฟังก็ต้องบอกว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งหมด คนที่พูดก็เป็นนิสิต ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ดูแลเรื่องของการรับเข้าศึกษาต่อโดยตรง ทางที่ดีคือควรจะเช็คกฏกติกาเองกับเว็บไซต์อยู่ดีเพราะว่ากฏการรับเข้าก็ยังไม่ค่อยนิ่ง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทุกปี (สำหรับคณะวิศวะ ม.เกษตร เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่เลย http://admission.eng.ku.ac.th/
  3. เอกสารยืนยันการรับเงินต่างๆตามที่รายการแจ้งมา 


ส่วนเรื่องว่าเราจะพูดอะไรนั้น ทางรายการไม่ได้มีคำถามมาให้ก่อน ถามสดตอบสดเลย เพราะฉะนั้นต้องมีไหวพริบดีกันหน่อย ที่สำคัญคือ ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก ว่าคนฟังเป็นใคร เขาต้องการอะไรจากเรา


การมีรายการประเภทนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้ฟังก็ต้องระมัดระวังในการฟัง เพราะการสื่อสารนั้นก็บิดเบือนและถูกตีความได้หลากหลาย บางทีการฟังความเห็นส่วนตัวของบุคคลอื่น ก็ทำให้คนฟังอาจจะเปลี่ยนทิศการตัดสินใจไปได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างที่เจอมากับตัวเอง วันนี้ได้ไปเข้าห้องอัดรายการที่บอกถึงการเข้าเรียนในคณะวิศวะฯ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พิธีกรถามว่า คุณสมบัติของผู้ที่เหมาะกับการเรียนภาคนี้คืออะไร ตอบว่าควรจะมีความใฝ่รู้ในเรื่องของข่าวสารเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคำตอบที่จริงมาก ถูกต้องมากๆ แต่ฟังแล้วย้อนกลับมาคิดถึงตัวเองว่า ถ้าตอนที่เราเองจะเลือกเข้าเรียนสาขานี้ ตอนที่อยู่ม.ปลาย ถ้าได้มาฟังเทปนี้ คงจะตัดคณะนี้ออกจากตัวเลือกไปเลย เพราะว่าไม่ได้เป็นคนที่รู้เรื่องหรือว่าตามข่าวสารเรื่องไอทีอะไรเลย แต่ว่าก็ยังสามารถเข้ามาได้ สามารถเรียนได้ เรียนรู้เรื่อง เข้าใจได้ อยู่ในสังคมของภาควิชาได้อย่างมีความสุข ถามว่าแล้วถ้าแบบนั้นคำตอบนี้จะจริงได้อย่างไร คำตอบคือว่า ตอนนั้นไม่ได้สนใจจะติดตามข่าวสาร แต่ว่าเข้ามาแล้ว ทุกอย่างมันก็สนับสนุนให้เรารู้ตัวเองว่าเราต้องอ่านข่าวไอทีนะ เราต้องตามเทคโนโลยีนะ เราถึงจะอยู่ในฟิลนี้ได้ แต่ถามว่าเด็กม.ปลายที่จะเข้าเรียนภาคนี้ต้องตามข่าวไอทีทุกคนเหรอ จึงจะเรียกว่าเหมาะสมที่จะเข้าคณะนี้ ตอบว่าไม่ เข้ามาแล้วค่อยเรียนรู้ ค่อยมาอัพเดทตัวเองก็ยังได้

เพราะฉะนั้น ไม่อยากให้น้องๆที่ฟังข่าวสารใดๆแล้วจะเชื่อไปเสียหมด ไม่งั้นจะเป็นการปิดกั้นตัวเอง ส่วนตัวคิดว่าถ้าวันนั้นได้ฟังพี่คณะวิศวะคอมมาพูดแบบนี้ ก็คงจะตัดออกจากคณะที่จะสอบเข้าไปเลยแน่ๆ แต่ถามว่าคำตอบที่ตอบทางรายการไปผิดไหม ไม่ผิดเลย ถูกต้องมากๆว่าจะต้องตามข่าวไอที

นั่นก็เพราะว่าคนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างจากสัตว์อื่นนั่นเอง

แตกต่างตรงที่ว่าคนเราเปลี่ยนกันได้มากกว่านั้น

MC @ACM-ICPC 2012

วันนี้เพิ่งจะไปเลี้ยงปิดโครงการเนื่องจากได้เป็น staff ผู้ร่วมจัดงาน ACM-ICPC 2012 รอบภาคกลาง จัดที่ม.เกษตร บางเขน ซึ่งผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ว่าเพิ่งจะว่างมาเขียน blog

ที่ได้ไปร่วมจัดงานในครั้งนี้ ก็คือได้ไปทำหน้าที่เป็นพิธีกรของงานนั้นเอง เลยอยากจะเขียนคร่าวๆเสียหน่อย ว่าบรรยากาศของงานที่จัดเป็นอย่างไร เผื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้จัด และผู้สนใจเข้าแข่งขันกัน

การแข่งขัน ACM-ICPC นี้เป็นการแข่งเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยจะแข่งเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 3 คน โดยจะมีโจทย์ให้ เป็นกระดาษ และให้เข้าไปเขียนโปรแกรมและทำการส่ง code เข้าไปในระบบ โดยที่ไม่ได้จำกัดภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นการเฉพาะในการแข่งขัน โดยผู้เข้าแข่งขันจะเป็นเด็กมหาลัยทั้งหมด แต่ละทีมก็มาจากแต่ละมหาลัยกันไป โดยยังใจดีอีกว่าถ้าในรอบนี้แข่งแล้วไม่ผ่าน อนุญาตให้ไปแข่งแก้ตัวในรอบ Online ได้ ถ้าผ่านก็มีสิทธิ์ไปแข่งรอบถัดไปได้เหมือนกัน

บรรยากาศในการแข่งขันค่อนข้างจะสบายๆ ไม่ค่อยเป็นทางการมากมายเท่าไร อาจจะเป็นทางการหน่อยๆขึ้นกับผู้ที่มาเป็นประธานในพิธีเปิด ระหว่างการแข่งขันนั้น ก็มีกติกาน่ารักๆอยู่ว่า เมื่อทีมใดทำโจทย์ข้อไหนผ่านแล้ว ก็จะมีทีมงานนำลูกโป่งสีของข้อนั้นมาผูกให้ที่โต๊ะทีทีมนั้นนั่ง ถือเป็นสีสันและเอกลักษณ์ของงานนี้เลยทีเดียว ^^

สำหรับบทบาทหน้าที่ของการเป็นพิธีกรคร่าวๆนั้น ก็มีประมาณนี้

  • พิธีเปิด
    • ก็ตามธรรมเนียม คือเชิญประธานกล่าวเปิดงาน พอประธานพูดเสร็จแล้วก็อย่าลืมขอบคุณล่ะ :]
    • อธิบายกำหนดการของทั้งวันนี้
    • เชิญทีมงานขึ้นอธิบายกติกาการแข่งขันในรอบนี้
    • เชิญทีมงานผู้จัดงาน ACM-ICPC รอบ Online มาแนะนำและอธิบายการแข่งขันรอบ Online (ซึ่งเป็นคนละรอบกับรอบนี้นะ) ในครั้งนี้ก็เป็นนิสิตจากจุฬาฯมานั่นเอง
    • อธิบายสิ่งที่อยู่ในถุงผ้าที่ผู้เข้าแข่งขันได้รับจากการลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผู้แข่ง เสื้อโค้ชคุมทีม (อาจารย์ที่พานิสิตมาแข่ง) ใบปลิวต่างๆจากผู้สนับสนุน username, password และการเข้าใช้อินเตอร์เนทของโค้ช ฯลฯ
  • ระหว่างการแข่งขัน
    • ดำเนินรายการระหว่างการแข่งขันเล็กๆน้อยๆ เช่น เชิญไปทานของว่าง ไปทานอาหาร ไปถ่ายรูปรวม ฯลฯ
  • ประกาศผล
    • ก็ต้องทำการประกาศผลการแข่งขัน ซึ่งก็มีหลายรางวัลมากเลย ตรงนี้คนเป็นพิธีกรน่าจะต้องฝึกอ่านชื่อทีมมาหน่อย เพราะว่าเด็กสายคอมๆแต่ละคนก็ตั้งชื่อกันได้อ่านยากจริงๆ ^^ แล้วถ้าเกิดเดินไปถามเอาซะตอนนี้ จะทำให้เดาได้ว่าทีมนั้นได้รางวัล (ไม่เซอร์ไพร์สเลย 55)
ป้าย Staff งาน ACM-ICPC 2012 รอบภาคกลาง @KU
สุดท้ายแล้วงานก็ผ่านไปได้ด้วยดี โต้โผใหญ่ของงานนี้ก็คืออาจารย์มะนาวนั่นเอง :]